send link to app

CMAQHI app for iPhone and iPad


4.0 ( 9680 ratings )
Weather Medical
Developer: Research Institute for Health Sciences, Chiang Mai University
Free
Current version: 1.0.3, last update: 1 year ago
First release : 05 Mar 2020
App size: 58.17 Mb

สร้างขึ้นเพื่อให้ชาวเชียงใหม่ได้รับรู้คุณภาพอากาศ ในทุกอำเภอทั้งแบบเวลาจริงทุกนาที ชั่วโมง และแบบค่าเฉลี่ยใน 24 ชม.ที่ผ่านมา พร้อมคำอธิบายระดับดัชนีคุณภาพอากาศ และคำเตือนเพื่อลดความเสี่ยงจากผลกระทบของมลพิษอากาศต่อสุขภาพชาวเชียงใหม่ จากความร่วมมือของหลายภาคส่วนโดยมีที่มาตามลำดับเวลาดังนี้

1. กลุ่มแพทย์ พยาบาล นักวิชาการ และผู้สนใจศึกษาเรื่องคุณภาพอากาศกลุ่มเล็กๆ ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รวมตัวกันพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ ความเห็นกันในไลน์กลุ่ม Suandok Air Alert จากไม่ถึง 10 ท่านจนปัจจุบันมีผู้สนใจเข้าร่วมเกือบ 200 ท่าน โดยปรึกษากันถึงผลกระทบต่อสุขภาพของฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว (PM2.5) ที่มีความเข้มข้นในอากาศสูงในช่วงฤดูหมอกควันในจังหวัดเชียงใหม่ที่เกิดจากการเผาเกษตรในภาคเหนือตอนบน เมียนม่าร์ ลาว และจีนตอนล่าง

2. ในกลุ่มมีความเห็นร่วมกันว่าภาครัฐโดยกรมควบคุมมลพิษ ให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการป้องกันตนจากปัญหาหมอกควันที่ผ่านมาไม่ถูกต้องเท่าที่ควร ทำให้อาจเกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชนชาวเชียงใหม่ได้ เนื่องจากกรมฯ แจ้งดัชนีคุณภาพอากาศโดยใช้ค่าเฉลี่ยรายวันและรายปีเฉพาะค่า PM10 ซึ่งไม่สามารถสะท้อนระดับมลพิษได้ดีเท่า PM2.5 แม้สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่จังหวัดเชียงใหม่สามารถวัดค่า PM2.5 ได้มาหลายปีแล้วก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้นยังใช้ค่า PM10 ในการแบ่งระดับดัชนีคุณภาพอากาศที่สูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำกว่า 2 เท่า (ค่าเฉลี่ยรายวันกรมฯใช้ค่า PM10 120 มคก./ลบม. ในขณะที่องค์การอนามัยโลกใช้ ค่า 50 มคก./ลบม. ส่วนค่าเฉลี่ยรายปี กรมฯ ใช้ค่า 50 มคก./ลบม. ในขณะที่องค์การอนามัยโลกใช้ค่า 20 มคก./ลบม.) นอกจากนี้กรมฯ ประกาศเตือนแก่สาธารณะโดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง 24 ชม. เพียงวันละ 1 ครั้ง ซึ่งไม่เพียงพอที่ประชาชนจะนำไปใช้ลดความเสี่ยงในการดำเนินกิจกรรมประจำวันได้ เพราะค่าดัชนีคุณภาพอากาศมีความแปรปรวนระหว่างวันสูง

3. ทางกลุ่มเห็นว่าสมควรนำค่าดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศสหรัฐอเมริกา (The United States Environmental Protection Agency หรือ EPA) มาใช้เนื่องจากมีหลักฐานเชิงวิชาการกำกับชัดเจนและมีหลายประเทศนำไปใช้ ศ. ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญและทีมงาน IT ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงดำริให้จัดทำเวบไซต์ www.cmaqhi.org ขึ้นโดยนำข้อมูล PM2.5 ของ รศ. ดร. พิศิษฐ์ สิงห์ใจ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งดำเนินการติดตั้งจุดตรวจวัดแบบ realtime ขึ้นหลายจุดในจังหวัดเชียงใหม่ และในปีแรกได้รับข้อมูลคุณภาพอากาศจาก ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Data Center) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อให้สามารถแสดงข้อมูลคุณภาพอากาศได้ครอบคลุมทุกอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่อย่างทั่วถึง

4. ในวันที่ 2 เมษายน 2561 ศ. นพ. ชายชาญ โพธิรัตน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เป็นตัวแทนไปให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับผลกระทบของมลพิษหมอกควันต่อสุขภาพชาวเชียงใหม่ และมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ระดับดัชนีคุณภาพอากาศที่มีมาตรฐานสากล พร้อมคำแนะนำในการเตือนประชาชนที่เหมาะสมแก่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และทีมงานที่ร่วมประชุมติดตามสถานการณ์เพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันในจังหวัด และได้รับคำชี้แนะจากที่ประชุมขอให้เว็บไซต์ www.cmaqhi.org เตือนด้วย 2 ดัชนีคุณภาพอากาศ ทั้งดัชนีที่คำนวณจากค่า PM10 และค่า PM2.5 เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านและเพื่อป้องกันความสับสน โดยจะพยายามสร้างความรู้ความเข้าใจและความตระหนักเกี่ยวกับค่า PM2.5 ให้สังคมรับทราบอย่างกว้างขวางมากขึ้น

5. เมื่อทางจังหวัดนำโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และตัวแทนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ประสานงานกันจนได้ข้อสรุปร่วมกัน ในการเริ่มประกาศใช้ดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพชาวเชียงใหม่ในวันที่ 12 เมษายน 2561 เป็นต้นมา

6. ในปี พ.ศ. 2562 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้สนับสนุนงบประมาณในโครงการ "คืนลมหายใจบริสุทธ์ให้ชาวเชียงใหม่" ในการติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ใช้เซนเซอร์ขนาดเล็กให้ครบ 205 ตำบลทั่วจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสร้างเครือข่ายระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนประชาชนจากผลกระทบของปัญหาหมอกควันต่อสุขภาพอย่างทั่วถึงทั้งในเขตเมืองและชนบทเป็นจังหวัดแรกในประเทศไทย
เดือนกุมภาพันธ์ 2562 ได้รับความอนุเคราะห์จาก รศ. ดร. พานิช อินต๊ะ หัวหน้าหน่วยวิจัยสนามไฟฟ้าประยุกต์ในงานวิศวกรรม (RUEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ดอยสะเก็ด​ให้นำเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศด้วยเซนเซอร์ขนาดเล็กไปวัดเปรียบเทียบกับเครื่องวัดมาตรฐาน​ teom1405f ที่ได้รับการรับรองคุณภาพจาก​ US EPA และ รศ. ดร. พิศิษฐ์นำค่าความชื้นสัมพัทธ์มาปรับค่าของเครื่องวัด​ให้ได้ผลการวัดเปรียบเทียบใกล้เคียง​กับเครื่องวัดมาตรฐาน​